ไทยรัฐเปิดตัว "Thairath LITE"

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ไทยรัฐโดยได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น "Thairath LITE" สำหรับลูกค้าสมาร์ทโฟน ทั้ง iOS ของ IPHONE, ANDROID และ Blackberry โดยเนื้อหาในแอพพลิเคชั่น จะประกอบไปด้วย ข่าวด่วน Breaking News และข่าวฮิตที่ได้รับความสนใจจากผู้อ่าน นอกจากนี้ยังมีบริการประเด็นยอดฮิตที่มีผู้สนใจติดตามอ่านมากที่สุดในรอบสัปดาห์


โดยการเริ่มปฏิบัติการครั้งนี้ของไทยรัฐ จะเป็นการขยายฐานคนอ่านหนังสือพิมพ์รูปแบบใหม่ เพราะเห็นว่าปัจจุบันคนนิยมใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นอย่างมาก โดยดูได้จากอัตราการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีสัดส่วนมากกว่า 10 % ของจำนวนมือถือที่ใช้งานทั้งหมดทั่วประเทศ

ชะตากรรม นสพ.กระดาษ

ทุกวันนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการอ่านข่าวสารจากอินเตอร์เน็ต มากกว่าการซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่าน ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า ในอนาคตหนังสือพิมพ์กระดาษจะหายไปในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเป็นแน่แท้

ปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ ในแถบยุโรป กำลังประสบปัญหาอย่างหนักกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้อ่าน ขนาดที่ว่าเจ้าพ่อหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง Rupert Murdoch ยังเคยเปรยๆ ว่าในอนาคตหนังสือพิมพ์จะต้องถูกเปลี่ยนให้มาอยู่ในรูปแบบดิจิตอล โดยมีการสำรวจจาก สมาคมหนังสือพิมพ์อเมริกา ว่ารายได้จากการโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์กระดาษในไตรมาสแรกของปี 2552 ลดลงร้อยละ 29.7 เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2551 และในเมื่อยอดขายก็ลดยอดโฆษณาก็ลด


ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงหันไปจับธุรกิจหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เพื่อหวังจะดึงรายได้ให้กลับคืนมา แต่การคิดเช่นนั้นก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป เพราะแม้ว่าคนมักจะอ่านข่าวสารจากอินเตอร์เน็ต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอ่านเพียงแค่ฉบับเดียว หรือเฉพาะเจาะจงเข้าไปอ่าน ดังนั้นรายได้จากการวางโฆษณาบนอินเตอร์เน็ตจึงไม่ได้เก็บกอบเป็นกำนัก นอกจากนี้ ผู้เล่นอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันยังไม่ชินกับการเสียค่าสมาชิกสำหรับการอ่านผ่านอินเตอร์เน็ต ดังนั้น หากผู้ประกอบการจะเรียกเก็บ ก็จะยิ่งทำให้สูญเสียกลุ่มลูกค้า จากหลายปัจจัยเหล่านี้ ทำให้หนังสือพิมพ์รายเล็กบางฉบับ จำเป็นต้องปิดกิจการลง เพราะยังหาโมเดลให้กับธุรกิจของตัวเองไม่เจอ

ขณะเดียวกัน เจ้าของสื่อที่ไหวตัวทัน ก็พยายามที่จะเชื่อมโยงการออนไลน์กับโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตต่างๆ หรือแม้กระทั่งหาช่องทาง Multimedia ที่หลากหลาย ทำกิจการเคเบิ้ล ควบคู่ไปด้วย เพื่อหาหนทางรอด เช่น  Rupert Murdoch หันมาจับมือกับ IPHONE  IPAD เพื่อสร้างสรรค์ข่าวออนไลน์รูปแบบใหม่ / ส่วนเมืองไทย นสพ.ไทยรัฐ ก็เพิ่งเปิดตัวว่าจับมือกับ IPHONE  IPAD เช่นเดียวกัน โดยมีความคาดหวังว่า ในอนาคตข้างหน้า จะสามารถสร้างโมเดลข่าวออนไลน์แบบเป็นรูปธรรม และเรียกเก็บค่าสมาชิกได้ หากมีเครือข่ายรองรับที่สมบูรณ์แบบ

แต่ทั้งนี้ ก่อนที่จะถึงวันนั้น ผู้ประกอบกิจการสื่อ จะหันหน้าเข้าหาธุรกิจในรูปแบบใด ควรที่จะทำหน้าที่สื่อข่าวอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง และเป็นกลาง อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้อ่าน น่าจะเป็นหนทางรอดที่แท้จริงสำหรับอนาคต แม้ว่าหนังสือพิมพ์กระดาษจะต้องหมดไปก็ตาม !!!

การดิ้นรนหาทางรอดของเจ้าพ่อสื่อยักษ์ใหญ่ของโลก

ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐ สื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เคยเป็นแหล่งสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับเจ้าของ กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำจนเข้าขั้นวิกฤติ ถึงกับบางรายอาจต้องปิดกิจการลงเนื่องมาจากหลายสาเหตุ อาทิเช่น
  • จำนวนยอดขาย นสพ. และนิตยสารตกต่ำลงอย่างมากทั่วโลก เพราะทุกอย่างหาได้จากโลกออนไลน์ สะดวก รวดเร็วขนาดอ่านได้บนโทรศัพท์มือถือ
  • หลายคนคิดว่าก็แค่ย้าย นสพ.จากกระดาษมาอยู่บนเว็บ แล้วก็ขายค่าโฆษณาแทนก็จบ แต่หลายรายกลับต้องปิดตัวลง
  • รายได้หลักของนสพ. มาจาก การวางขาย, ค่าสมาชิก, ค่าโฆษณา แต่ นสพ.ออนไลน์ จะทำให้รายได้หลัก 2 อย่างแรกหดหายไป
  • การลงทุนกับ นสพ.ออนไลน์ โอกาสที่จะหาเงินจากค่าโฆษณาออนไลน์จำนวนมหาศาลไม่น่าจะเป็นไปได้ 
ทำให้เจ้าพ่อสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง รูเพิร์ต เมอร์ดอก หาทางดิ้นรนเพื่อให้รอดจากวิกฤตินี้เช่นกัน จึงได้ผนึกกำลังกับสื่อดิจิตอลยักษ์ใหญ่ "ไอแพด" เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 เปิดตัว The Daily หนังสือพิมพ์ดิจิตอลที่ทำงานร่วมกับอุปกรณ์จำพวก "แท็บเล็ต" อย่างไอแพด ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่มีความใกล้เคียงกับนิตยสารกระดาษมากขึ้น แต่ได้เปรียบในเรื่องมัลติมีเดีย เช่น เล่นไฟล์วีดิโอประกอบข่าวได้ทันที และสามารถปรับค่าในชาร์ต หรือ กราฟต่างๆ ได้ ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้แต่หวังว่า โมเดลใหม่ของ The Daily ที่ประกาศว่าจะใส่ทุกอย่างลงใน Tablet ทุกตัวนั้นจะรุ่งจนเป็นต้นแบบให้กับสื่อรายอื่น หรือร่วงจนเป็นกรณีศึกษากันต่อไป

ประวัติหนังสือพิมพ์

ประมาณ 60 ปีก่อนคริสต์ศักราช ยุคอาณาจักรโรมัน จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ ได้สั่งให้คัดลอกแถลงการณ์ของพระองค์ รวมถึงข่าวประจำวันของราชการ ไปปิดไว้ตามกำแพงในที่ชุมชนเพื่อประชาชนได้อ่าน ใบประกาศนั้นเรียก "แอ็กตา ดิอูนา" (Acta diuna) ซึ่งนับว่าเป็นต้นแบบหนังสือพิมพ์


จากแผ่นประกาศข่าว วิวัฒนาการเป็นจดหมายข่าว และหนังสือข่าว รายงานข่าวสารทางการค้า การเมือง แล้วพัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ โจฮัน กูเต็นเบิร์ก ชาวเยอรมัน ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์และตัวพิมพ์ขึ้น และวิลเลียมส์ แซกส์ตัน นำเครื่องพิมพ์ไปใช้ในประเทศอังกฤษ

พ.ศ.2165 อังกฤษรวบรวมข่าวรายวันมาพิมพ์ออกจำหน่ายเป็นรายสัปดาห์ ในชื่อ A Weekly News London ถือเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของโลก โดยเสนอข่าวที่เกิดขึ้นในภูมิภาคยุโรป

ผู้ริเริ่มออกหนังสือพิมพ์รายวันคนแรกของโลกคือ เอ็ดวาร์ด มอลเลต หนังสือชื่อ The Daily Courant ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2245 เสนอบทความ บทวิจารณ์สังคม คอลัมนิสต์ชื่อดังคือ    ดาเนียล เดอโฟ

วิวัฒนาการหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย

เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีกลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกันเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ หมอบรัดเลย์  ได้ออก หนังสือพิมพ์ข่าวรายปักษ์ฉบับแรกในประเทศไทย ชื่อ หนังสือจดหมายเหตุ (บางกอกรีคอเดอ - อังกฤษ: The Bangkok Recorder) พิมพ์ด้วยภาษาไทย และภาษาอังกฤษ แต่มีอายุได้ไม่ถึง 2 ปี ก็ต้องปิดกิจการลง

ต่อมา รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้จัดทำ หนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย ชื่อ ราชกิจจานุเบกษา เพื่อชี้แจงข่าวคลาดเคลื่อน ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ และเพื่อแจ้งข่าวการบริหารพระราชภารกิจทางการเมือง

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรก ที่เผยแพร่สู่ประชาชน ชื่อ ดรุโณวาท และมีหนังสือพิมพ์ที่ยอดจำหน่ายสูงมาก จนกระทั่งต้องมีระบบจัดส่งหนังสือ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการไปรษณีย์ไทย คือ ข่าวราชการ (อังกฤษ: Court - ค็อต) ในยุคนี้ วงการหนังสือพิมพ์ตื่นตัวมาก โดยมีการออกหนังสือพิมพ์ถึง 59 ฉบับ

สมัยรัชกาลที่ 6 กิจการหนังสือพิมพ์ก้าวหน้ามาก ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 7 มีหนังสือพิมพ์ 55 ฉบับ โดยฉบับที่มีชื่อเสียง และน่าเชื่อถือที่สุดคือ ประชาชาติรายวัน ซึ่งมีอิทธิพลต่อผู้อ่านอย่างสูง โดยเฉพาะปัญญาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

สมัยรัชกาลที่ 8 ต่อเนื่องถึงรัชกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2501 เกิดรัฐประหาร นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  หนังสือพิมพ์ตกไปอยู่ภายใต้การควบคุมของประกาศคณะปฏิวัติ โดยยุคนี้มีหนังสือพิมพ์ 31 ฉบับ เช่น
  • สยามนิกร       (2481-2512)
  • ไทยรัฐ           (2492-ปัจจุบัน)
  • สารเสรี          (2497-2508)
  • เดลิเมล์          (2493-2501)
  • สยามรัฐ         (2493-ปัจจุบัน)
  • เกียรติศักดิ์      (2495-2513)
  • แนวหน้า         (2495-ปัจจุบัน)
  • อาณาจักรไทย (2501-2504) 
  • เสียงอ่างทอง  (2500-2507)
  • เดลินิวส์         (2507-ปัจจุบัน)
ที่มา : wikipedia